พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไรกันแน่
พอมีรถเป็นของตัวเอง นอกจากเรื่องของการทำประกันภัยรถยนต์ที่ต้องคิดแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ต้องให้ความสนใจอีกด้วย บางคนก็คิดว่าจะมีไปทำไมกันหล่ะ พ.ร.บ. ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย
ในเมื่อรถเราก็มีประกันชั้น1 คอยคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ก็ได้แค่คิด สุดท้ายก็ต้องทำอยู่ดี เพราะกฎหมายบังคับมา โอ้ ทำไมต้องมีค่าใช้จ่ายไร้สาระอะไรมากมายขนาดนี้ ใจเย็นก่อน อย่าพึ่งตีโพยตีพายโทษกฏหมายไปเลย เพราะอันที่จริงแล้ว พ.ร.บ.รถยนต์นั้นมีประโยชน์มากมายทีเดียว ดังนั้นเรามาดูกันก่อนเถอะว่า พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไรกันแน่
พ.ร.บ. รถยนต์ ก็คือ
การประกันรถยนต์ภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นประกันที่กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันจำเป็นต้องมี ถ้าใครนึกไม่ออกว่าอะไรคือ พ.ร.บ. รถยนต์ ก็ให้นึกถึงภาพกระจกหน้ารถที่มีกระดาษสี่เหลี่ยมจตุรัสแปะอยู่พร้อมกับมีเลขปี พ.ศ. ตัวโตๆ นั่นเอง สิ่งนี้เป็นเหมือนเครื่องหมายว่ารถยนต์คันนี้ทำ พ.ร.บ. แล้วนะ แต่ใบพ.ร.บ. จริงๆ จะเป็นกระดาษขนาด A4 ที่มีข้อความ “สมาคมประกันวินาศภัย” กับตราสัญลักษณ์ของสมาคม ระบุอยู่บนแถบโฮโลแกรมสีน้ำเงิน เป็นเอกสารที่จำเป็นต้องเก็บติดรถไว้เสมอ ลองเช็คดูสิว่าในรถยนต์ของเรามีครบถ้วนหรือไม่
ทีนี้เมื่อรู้แล้วว่า พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร ก็มาดูว่าแล้วเจ้าตัวนี้มันมีประโยชน์อะไรกันบ้าง หลักใหญ่ใจความของ พ.ร.บ. ก็คือคุ้มครองบุคคลในทุกกรณี ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายที่สุดก็คือ กรณีของผู้ที่เมาแล้วขับ หากผู้ขับมีอาการเมาโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าระดับที่ทางบริษัทประกันกำหนดไว้
ต่อให้ทำประกันชั้นเยี่ยมแค่ไหน จ่ายเบี้ยประกันสูงเท่าไร บอกได้เลยว่าประกันไม่คุ้มครองทุกกรณี ในขณะที่ พ.ร.บ. ยังคงคุ้มครอง และคุ้มครองในส่วนที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือตัวบุคคล หากมีคนบาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนั้น พ.ร.บ. จะดูแลรับผิดชอบให้โดยไม่มีข้อแม้ว่าคนขับจะเมามายเท่าไร
โดยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามเกณฑ์กำหนดก่อนการตรวจสอบความถูกผิดเสียอีก ก็เรียกได้ว่าหากจะยืดประกันภัยรถยนต์เป็นตัวหลักแล้ว พ.ร.บ.รถยนต์ ก็คือตัวที่มาปิดช่องว่างต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ก็อย่าลืมว่า พ.ร.บ. รถยนต์นั้น คุ้มครองเฉพาะบุคคลเท่านั้น ยานพาหนะไม่รวมในความคุ้มครอง
จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.รถยนต์ มีประโยชน์มากกว่าแค่เอกสารที่ต้องทำตามข้อบังคับของกฎหมายอย่างที่คิดไว้ การทำความเข้าใจการใช้ พ.ร.บ. จึงสำคัญ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจะได้ไม่สับสนและละเลยผลประโยชน์ที่ควรจะได้ไป อย่างไรก็ตามแม้จะมีผู้ช่วยทั้งในรูปแบบประกันและรูปแบบของ พ.ร.บ. แต่อุบัติเหตุก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
เพราะความสูญเสียบางอย่างมันชดเชยไม่ได้จริงๆ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องการขับขี่มาเป็นอันดับแรกๆ ทางไหนที่อันตราย ทางไหนที่มีความสุ่มเสี่ยง เมื่อเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงไป นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องของสภาพรถที่ต้องตรวจดูให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เหมือนกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก ทิพยประกันภัย อาคเนประกันภัย ด้วยนะครับ หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์สำหรับเพื่อนๆทุกคนนะ